ฟัง พูด อ่าน เขียน ครูควรจะบูรณาการโดยการจัดกิจกรรม
1 การฟัง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้เสียงที่ได้ยิน การตระหนักถึงความหมายของเสียงนั้นในบริบทแวดล้อม และการตีความสิ่งที่ได้ยินโดยเชื่อมโยงกับความรู้เดิม การรวบรวมข้อมูล การจินตนาการ หรือความชื่นชอบของเด็ก ทั้งนี้ สาระที่ควรเรียนรู้เกี่ยวกับการฟังแบ่งออกเป็น 3 ด้าน (Jalongo, 1992: 67) ได้แก่
(1) ด้านความสามารถในการได้ยินและจับใจความ ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์และภูมิหลังของเด็ก ครูจึงต้องปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับความต้องการและความจำเป็นนั้นๆ
(2) ด้านความตั้งใจฟัง เกิดขึ้นเมื่อมีแรงจูงใจ มีเหตุผลที่ดี หรือมีประโยชน์ต่อเด็ก
(3) ด้านนิสัยในการฟัง เป็นพฤติกรรมตอบสนองต่อสถานการณ์ในการฟัง นิสัยที่ดีในการฟังเกิดจากการที่เด็กมีความสนใจ ได้รับข้อมูลหรือสารที่ชัดเจน และการได้ตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ยิน
ดังนั้น สิ่งที่ครูควรตระหนักและวางแผนในการกำหนดสาระที่เด็กควรเรียนรู้ด้านการฟัง คือ การช่วยให้เด็กมีความไวต่อการใช้บริบท หรือสิ่งชี้แนะเพื่อการตีความ และการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้ยินกับประสบการณ์ของเด็ก โดยที่ครูเป็นผู้ช่วยให้เด็กมีประสบการณ์ต่างๆ อย่างเพียงพอ เหมาะสมกับวัย ความแตกต่างระหว่างบุคคล และความสนใจของเด็ก เพื่อเป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้เด็กมีความตั้งใจในการฟัง และพัฒนาไปสู่การมีนิสัยที่ดีในการฟังในที่สุด
2 การพูด เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับผู้อื่น สาระที่เด็กควรเรียนรู้เพื่อให้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีความหมาย และตรงตามความต้องการของเด็ก ได้แก่
(1) คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเด็ก หรือคำศัพท์เกี่ยวกับเรื่องราวที่เด็กสนใจ
(2) การเรียงลำดับคำต่างๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ
(3) การใช้คำพูดที่เป็นที่ยอมรับ และ/หรือคำพูดที่สุภาพ
(4) การใช้คำพูดให้เหมาะสมกับบุคคลที่ต้องการสื่อสารด้วย
(5) ความมั่นใจในการพูดกับผู้อื่น
(6) การยอมรับความคิดที่ผู้อื่นแสดงออกด้วยการพูด
(7) ความสนใจที่มีต่อคำใหม่ๆ สาระเหล่านี้ช่วยให้เด็กสามารถมากขึ้น
3 การอ่าน เป็นกระบวนการที่เด็กใช้ในการถอดรหัสสัญลักษณ์ และทำความเข้าใจความหมายที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดผ่านสัญลักษณ์เหล่านั้น องค์ประกอบของการอ่านที่เด็กควรเรียนรู้ (สุภัทรา คงเรือง, 2539: 19 - 20) ได้แก่
(1) ความรู้เกี่ยวกับการใช้หนังสือ ได้แก่ การรู้ทิศทางในการถือหนังสือ การรู้ส่วนประกอบของหนังสือ และ การรู้ทิศทางในการอ่าน
(2) ความรู้เกี่ยวกับตัวอักษร ได้แก่ การรู้ว่าการอ่านกับการเขียนสัมพันธ์กัน การรู้จักคำคุ้นตา การรู้ว่าคำคืออะไร การรู้จักตัวอักษรตัวแรก และตัวสุดท้ายของคำ และ การรู้รูปร่างและทิศทางของตัวอักษร
(3) ความรู้เกี่ยวกับเครื่องหมายวรรคตอน ได้แก่ การรู้ความหมายของเครื่องหมายคำพูด เครื่องหมายคำถาม และเครื่องหมายอัศเจรีย์
(4) ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิ่งชี้แนะในการคาดคะเนและตรวจสอบการคาดคะเน ได้แก่ การคาดคะเน และตรวจสอบการคาดคะเนโดยอาศัยภาพ ความหมายของคำ โครงสร้างของประโยค และ/หรือ พยัญชนะต้นของคำ
4 การเขียน เป็นกระบวนการแสดงออกถึงความรู้สึก ความต้องการ และความคิดผ่านทางเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ องค์ประกอบของการเขียนที่เด็กควรเรียนรู้ (ภาวิณี แสนทวีสุข, 2538: 9) ได้แก่
(1) การสร้างสัญลักษณ์ภาษาเขียน หมายถึง การสร้างภาพ และ/หรือข้อความ ด้วยการวาด การลอก การจำมาเขียนทั้งที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์และถูกต้องสมบูรณ์ การคิดพยัญชนะขึ้นเสียงของคำ ตลอดจนการคิดสะกดคำ
(2) ทิศทางการเขียน หมายถึง การจัดเรียงตำแหน่งของสิ่งที่เขียน ตั้งแต่การจัดเรียงตามแนวตั้งและแนวนอนอย่างสะเปะสะปะ ไปจนกระทั่งเด็กสามารถเขียนจากซ้ายไปขวา และบนลงล่างอย่างสม่ำเสมอ
(3) วิธีถ่ายทอดความหมายของสัญลักษณ์ภาษาเขียน หมายถึง การแสดงความหมายของภาพ และ/หรือข้อความที่ตนเขียนให้ผู้อื่นรับรู้ด้วยการบอกให้ครูช่วยเขียนให้ เขียนเองบางส่วน ตลอดจนเขียนเองทั้งหมด
(4) ความซับซ้อนของความหมาย หมายถึง ความชัดเจน ความละเอียดลออ และครอบคลุมความหมายที่ต้องการสื่อโดยใช้หน่วยไวยากรณ์ที่เป็นตัวอักษร คำ หรือประโยคง่ายๆ
ทั้งนี้ การนำเสนอสาระการเรียนรู้ด้านภาษา ทั้งประสบการณ์สำคัญ และสาระที่ควรเรียนรู้โดยแยกตามทักษะการใช้ภาษานั้น เพื่อให้ครูมีความกระจ่างชัดต่อทักษะทางภาษาในแต่ละทักษะ ไม่ได้หมายถึงการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กโดยแยกแต่ละทักษะออกจากกัน การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยด้านภาษาต้องเป็นการบูรณาการทุกทักษะเข้า ด้วยกัน โดยจัดกิจกรรมที่สนับสนุนให้เด็กได้ใช้ภาษาเพื่อการสื่อความหมายในชีวิต ประจำวันอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น